Heavy Metal | 2024, Cameron Winter
บทกวี เสียงจากก้นบึ้ง และภาพเสมือนตน ซึ่งฉายความเลอะเทอะ ดิบดาน และไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ผู้เหลวแหลกได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
Heavy Metal | 2024, Cameron Winter | 10 เพลง, 43 นาที | ★★★★★
◾ แนวเพลง : นักร้อง-นักแต่งเพลง, แชมเบอร์โฟล์ค, อเมริกาน่า, โซล
◾ รีวิว :
ณ ช่วงเวลานี้ ถ้าหากเราพูดถึงวงร็อกดาวรุ่งที่กำลังมาแรงในวงการเพลงนอกกระแส เราย่อมหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง Geese ไม่ได้; Geese เป็นวงอาร์ตร็อก/พังก์จากนิวยอร์ค ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา หลังพวกเขาย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Partisan ค่ายนอกกระแสชื่อดัง ก่อนที่อัลบั้มชุดที่สามของวงอย่าง 3D Country (2023) จะนำพาพวกเขา ทะยานไปสู่ความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้; แต่ผลงานอัลบั้มที่ผมกำลังจะพูดถึงในวันนี้ ไม่ใช่อัลบั้มใหม่ของ Geese หากแต่เป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของฟร๊อนแมนวัย 23 ปี ของพวกเขา อย่างแคมรอน วินเทอร์ (Cameron Winter) ต่างหาก
Heavy Metal เป็นอัลบั้ม— ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากจากความปรารถนาส่วนตัวของวินเทอร์ ที่อยากจะลองทำเพลงด้วยตัวเองคนเดียว โดยไม่สนความเห็นของใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับอัลบั้มชุดนี้ แลดูเหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความปรารถนาเพียงชั่ววูบของเขา วินเทอร์ยอมรับว่าอัลบั้มชุดนี้เลยเถิดไปจากเป้าหมายดั้งเดิมของเขามาก เขาเล่นเครื่องดนตรีเกือบทุกชั้นในอัลบั้มด้วยตนเอง ส่วนที่ไม่ได้เล่นเองก็จ้างนักดนตรีมือสมัครเล่นในอินเตอร์เน็ตมาเล่นให้ (หนึ่งในนั้น คือมือเบสนิรนามวัย 5 ขวบ) ทางด้านการบันทึกเสียงเขาก็ทำด้วยตัวเอง แบบไม่เกี่ยงสถานที่ จะหลังเบาะรถแท็กซี่ ที่สาธารณะ หรือห้องใต้ดินที่ถูกทิ้งร้าง เขาก็อัดได้หมด ส่วนภาพปกอัลบั้ม/ซิงเกิลก็เป็นภาพเซลฟี่ที่ดูสุดแสนจะธรรมดา ซิงเกิลซึ่งปล่อยออกมาโปรโมตอัลบั้มก็ไม่ได้ใส่มาในอัลบั้ม อย่างเอ็มวีเพลง ก็เป็นวีดีโอเรียบๆ ที่มีเขาร้องเพลง/เล่นดนตรีอยู่ในที่สาธารณะแบบสดๆ โดยไม่มีลูกเล่นการตัดต่ออะไรทั้งนั้น แม้แต่การปล่อยอัลบั้ม ก็ยังปล่อยออกมาแบบไม่ให้สื่อได้ทันตั้งตัว กลางเดือนที่เงียบงันที่สุดของปีอย่างเดือนธันวาคม ทั้งที่เขาและค่ายเองก็ต่างรู้ ว่ามันจะส่งผลเสียต่อกระแส/ยอดขายของอัลบั้มอยู่แล้ว
แต่อัลบั้มชุดนี้ก็ถูกปล่อยออกมาแล้ว มันมีตัวตนอยู่จริง หาใช่การทดลองทางสังคม (Social Experiment) แต่อย่างใด อัลบั้มแห่ง ‘ความปรารถนาเพียงชั่ววูบ’ ที่อัดเสียงได้แย่ราวกับตั้งใจ ซึ่งถ้าไม่ได้ Loren Humphrey (Arctic Monkeys, Lana Del Rey, Geese) เจ้าเก่า มาเป็นโปรดิวเซอร์แก้งานให้ ผมก็ไม่อยากนึกเลยว่ามันจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง และคืออัลบั้มชุดนี้ ตอนผมฟังครั้งแรก ผมยอมรับเลยว่าแอบขำ เพราะเสียงร้องของวินเทอร์มันพิลึกมาก มันเหมือนกับเขาพยายามเลียนแบบนักร้องเสียงสวรรค์อย่าง Jeff Buckley ระหว่างตัวเองกำลังเมายังไงยังงั้น แต่พอผมฟังไปเรื่อยๆ ผมถึงรู้ว่าเขาเอาจริง ไม่ได้ต้องการจะกระทำความ Weird Al เพื่อล้อเลียนใครที่ไหน ตอนนั้นแหละ ที่ผมเริ่มรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่าง ที่มากไปกว่าสิ่งที่ผมได้ยินจากการฟังเพียงผิวเผิน มากไปกว่าการบันทึกเสียงห่วยๆ และความ DIY ที่เป็นฐานรากของอัลบั้ม แต่กว่าผมจะเข้าใจว่ามันคืออะไร อัลบั้มชุดนี้ก็พาผมไปถึงเพลงสุดท้ายของมันแล้ว
.
“ฉันคับคั่งไปด้วยเหล็กหนัก
ฉันคือมนุษย์เหล็กหนัก”
(“I am full of heavy metals
I am a heavy metal man”)
.
ท่ามกลางความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน และความอีเหละเขะขะของมัน ใจกลางของ Heavy Metal คืออัลบั้มตระกูลนักร้อง-นักแต่งเพลง ที่มีเสียงร้องใกล้ชิด (Crooner) ติดเล่นลูกคอของวินเทอร์ ซึ่งฟังดูเหมือน Jeff Buckley ร้องเพลงโซลระหว่างเมาหัวราน้ำเป็นตัวขับนำ ควบคู่ไปกับเนื้อเพลงสไตล์กวีจ๋าๆ ที่ผสมผสานรูปแบบและสำนวนภาษา ของพวกนักเขียน/นักกวียุคบีท (Beat Generation) อย่าง Allen Ginsberg หรือ Jack Kerouac เข้ากับนักเขียนเพลงยุคหลังบีท (Post-Beat) อย่างพวก Bob Dylan หรือ Leonard Cohen เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตและความรัก ของตัวละครนำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของวินเทอร์เอง ทั้งนี้ โดยให้อารมณ์กึ่งจริงกึ่งฝัน ครู่หนึ่งฟังดูดิบดานเยี่ยงคำสารภาพบาป อีกครู่ฟังดูเหมือนคนหลอนยาที่พร่ำบ่นไปตามกระแสธารความคิด (Stream of consciousness) มันมีความเสมือนจริง (Surreal) และความอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionist) ปะปนกันไปอย่างน่าค้นหา ราวกับเป็นภาพเสมือนตน (Self-Portrait) ที่ถูกตกแต่งและบิดผัน (Stylized) ให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง แต่ยังคงไว้ ซึ่งเค้าโครงของนายแบบ จนพอที่จะเดาได้ว่ารูปนี้เป็นรูปเสมือนตนของใคร จะบอกว่าเป็นสไตล์แบบกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-autobiographical) ก็คงได้
วินเทอร์พูดถึงการเขียนเพลงของอัลบั้มชุดนี้กับนิตยสาร House of Solo ไว้ว่า “ผมไม่ได้พยายามหลบอยู่หลังการเล่นคำ ผมอยากจะถ่ายทอดภาพที่เหมือนจริง อิมเพรชชันนิสม์ แต่ยังคงซื่อตรงเกี่ยวกับความรู้สึกของผม ผมเชื่อว่าความรู้สึกของผม น่าจะเชื่อมต่อกับใครหลายๆ คนได้” (“I was trying not to just hide behind wordplay. I wanted to give people a real, impressionistic, but still honest image of how I felt. I believe that the way I feel might be relatable to many others,”)
ในส่วนของภาคดนตรี Heavy Metal เป็นอัลบั้มที่จัดแจงให้อยู่ในกรอบของสุนทรีย์ดนตรีแนวใดแนวหนึ่งไม่ได้ เพราะอัลบั้มชุดนี้ดึงอิทธิพลมาจากหลายทิศหลายแหล่งเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นแชมเบอร์โฟล์คที่เล่นกีตาร์แบบใช้นิ้ว ประสานไปกับเสียงของเครื่องสายแบบคลาสสิค ในสไตล์ Van Morrison หรือ Leonard Cohen ยุคแรกก็ดี (‘Cancer of the Skull’, ‘Can’t Keep Anything’, ‘We’re Thinking the Same Thing’, ‘The Rolling Stones’) จะซอฟร็อกนุ่มๆ แอบโรแมนติกแบบ Harry Nilsson ก็ดี (‘Nausicaä’, ‘Try As I May’) จะออเชสตร้าป็อปพิลึกๆ แสนติดหู ซึ่งฟังดูเหมือนญาติห่างๆ ของ Todd Rundgren ก็ดี (‘Love Takes Mile’, ‘$0’) จะเพลงทดลองกวีบีท ที่ฟังดูเหมือนลูกผสมพันธ์ทางในโรงพยาบาลจิตเวชระหว่าง Tom Waits กับ Bob Dylan ก็ดี (‘Nina + Field of Cops’)
มันเป็นไปไม่ได้เลย ที่คุณจะจัด Heavy Metal ให้อยู่ในกรอบของดนตรีเพียงแนวใดแนวหนึ่ง มันไม่ใช่อัลบั้มโฟล์ค ป็อป โซล หรือร็อก และแน่นอนว่าไม่ใช่เฮวี่เมทัลตามชื่อของมันแน่ๆ หากจะมีอะไรที่เกี่ยวโยงซาวด์เสียงของเพลงเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน คงจะมีแค่เรื่องที่มันเป็น ‘ซุปหม้อใหญ่’ ซึ่งนำสุนทรีย์ของดนตรีจากยุคปลาย ‘60s ถึงยุค ‘70s มาเทรวมอยู่ด้วยกัน ยุคสมัยที่เหล่านักดนตรีต่างพยายามท้าทายนิยามของ ‘เพลง’ ภายใต้ข้อจำกัดที่ตนมี อันส่งผลทำให้ดนตรีในยุคดังกล่าวเต็มไปด้วยร่องรอยของการลองผิดลองถูกจนเป็นเอกลักษณ์ ก่อนที่การมาถึงของเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จะเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในยุค ‘80s ซึ่งพ่วงมาพร้อมกับอาการเสพติดซึ่งมายาคติของ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ที่แพร่กระจายอยู่ในหลายๆ ซอกมุมของวงการเพลงในทุกวันนี้
เช่นเดียวกับดนตรีจากยุคปลาย ‘60s ถึงยุค ‘70s Heavy Metal เองก็เป็นอัลบั้มที่ก่อกำเนิดขึ้นมาภายใต้ข้อจำกัดเช่นกัน วินเทอร์หลีกเลี่ยงที่จะไม่เล่นเครื่องดนตรีที่เขารู้ว่าตัวเองเล่นไม่ดีหรือเล่นไม่ได้ ทั้งยังหลีกเลี่ยงการใช้นักดนตรีอาชีพอีกด้วย หากเขาอยากได้นักดนตรีมาช่วย เขาก็จ้างเอาในเน็ต หากเขาอยากได้เสียงร้องคอรัส เขาก็ร้องทับเสียงตัวเองซ้อนมันไปทั้งยังงั้นเลย; ความเลอะเทอะ เปรอะเปรื้อน และความไม่สมบูรณ์แบบ คือสิ่งที่อัลบั้มชุดนี้มีมาโดยกำพืด และมันคือสิ่งที่อธิบายซาวด์เสียงของอัลบั้มชุดนี้ได้ดีกว่ากรอบนิยามของแนวเพลงใดๆ
.
“ฉันจะทุบตำรวจไปเรื่อยๆ จนกว่ามือซ้ายของฉันจะบิดเบี้ยว
จนกว่ายามหัศจรรย์ของฉันจะช่วยเขียนเพลงมหัศจรรย์ให้
ฉันจะม้วนหลุนลงไปเรื่อยๆ จนกว่าเสื้อตัวเก่งของฉันจะม้วนหลุด
จนกว่าคนต่อแถวเต้นคองก้าหลังฉัน จะยาวเท่ากับไก่หนึ่งพันตัว”
“I will keep breaking cops until my left hand looks wrong
Until my miracle drugs write the miracle song
I will keep rolling down until my best shirt rolls off
Until the conga line behind me is a thousand chickens long”
.
Heavy Metal คือตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบ ของอัลบั้มเพลงที่สรรค์สร้างโดยศิลปินที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ซึ่งสุนทรีย์ดนตรีที่เขาเลือกใช้ เกือบทุกการสั่นของเสียงที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเปล่งออกมา— เกือบทุกคำพูดที่ถูกหยิบยืมความหมายมาใช้— ล้วนต่างเป็นส่วนต่อขยายจากร่างและจิตวิญญาณ ของตัวละครนำแสนน่าสมเพช ซึ่งมีชีวิตอยู่ในทุกๆ บทเพลงของอัลบั้มชุดนี้ โดยเขาอาจมี หรือไม่มีตัวตนอยู่จริง และอาจเกี่ยว หรือไม่เกี่ยวกับชายที่มีชื่อว่าแคมรอน วินเทอร์ก็ได้
เพลงใน Heavy Metal ไม่ได้รู้สึกเหมือนว่ามันเป็นเพลง มันรู้สึกเหมือนเป็นภาพยนตร์ ที่ดีกว่าภาพยนตร์ เพราะมันไม่จำกัดจินตนาการของคุณด้วยภาพ แต่ในขณะเดียวกันมันก็รู้สึกเหมือนกับภาพ— ภาพวาด— จำนวน 10 ชิ้น ที่ถ่ายทอด 10 ห้วงอารมณ์ของตัวละครนำที่สุดแสนจะเหลวแหลกของอัลบั้ม ไม่ว่ามันจะเป็นภาพของเขาในวันที่เขาเพ้อฝันไปอย่างเรื่อยเปื่อย (‘The Rolling Stones’) ภาพในวันที่เขาโหยหาซึ่งความรัก (‘Nausicaä’) ภาพในวันที่เขาเริงร่าอารมณ์ดี (‘Love Takes Miles’) ภาพในวันที่เขาจมดิ่ง (‘Drinking Age’) ภาพในวันที่เขาหัวเราะเยาะใส่ตัวเอง (‘Cancer of the Skull’) ภาพในวันที่เขาอ้อนวอนขอความรัก (‘Try as I May’) ภาพในวันที่เขาเหนื่อยล้า (‘We’re Thinking the Same Thing’) ภาพในวันที่เขาเป็นบ้า สติแตก (‘Nina + Field of Cops’) ภาพในวันที่เขาแตกสลายและใฝ่หาถึงเหตุผลในการมีชีวิต (‘$0’) และภาพในวันที่เขาเลือกจะเดินหน้าและให้โอกาสกับตัวเองอีกครั้ง (‘Can’t Keep Anything’)
Heavy Metal จึงเป็นคอนเซ็ปอัลบั้มสไตล์ศึกษาตัวละคร (Character Study) ที่พยายามมอบชีวิตให้กับตัวละครนำที่น่าสมเพชตัวดังกล่าว ด้วยการใช้ความดิบดาน เลอะเทอะ และไม่สมบูรณ์แบบ มาเป็นพู่กัน เพื่อวาดภาพตัวละครตัวนี้ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่มันจะได้สามารถชักจูงให้คนฟังเชื่อว่า ตัวละครตัวนี้มีลมหายใจอยู่จริง จนคนฟังรู้สึกสนใจและใคร่รู้ในเรื่องราวความเป็นไปของมันเสมือนดังนวนิยายชั้นยอดเรื่องหนึ่ง หรือบางครั้ง คนฟังอาจจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวเอง สะท้อนอยู่ในเรื่องราวของตัวละครนำที่สุดแสนจะเหลวแหลกตัวนี้ก็ได้
จริงอยู่ ที่เรื่องราวของตัวละครตัวนี้ มีที่มาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของวินเทอร์ แต่เฉกเช่นอัลบั้มนักร้อง-นักแต่งเพลงระดับคลาสสิคอย่าง Elliott Smith (1995), Fetch the Bolt Cutters (2020) ของ Fiona Apple, หรืองานเพลงระดับคลาสสิคของศิลปินอย่างพวก Nick Cave, Daniel Johnston, David Berman, หรือ Leonard Cohen; วินเทอร์ได้พร่าเลือนรอยต่อระหว่าง ‘เรื่องจริง’ และ ‘เรื่องแต่ง’ และมอบสิทธิในการมีชีวิตให้กับอัลบั้มชุดนี้ เพื่อที่มันจะได้สามารถมีลมหายใจด้วยตัวเองได้ โดยไม่จำต้องพึ่งร่างเนื้อของเขา อัลบั้มชุดนี้เปรียบได้เสมือนดังเด็กทารกคนหนึ่ง ที่วินเทอร์ให้กำเนิดขึ้นมา หรือ— หากเอาคำพูดจากปากของเขาเอง “บทเพลงทั้งหลายคือร้อยเด็กทารกอัปลักษณ์ที่ฉันเองเลี้ยงไม่ไหว” (“Songs are a hundred ugly babies I can’t feed”) [จากเพลง ‘Cancer of the Skull’]
เพลงแต่ละเพลงของ Heavy Metal จึงให้ความรู้สึกเหมือนกับชิ้นส่วน หรืออวัยวะ ของสิ่งมีชีวิตตัวเดียวกัน ซึ่งนั่นคงจะเป็นไปไม่ได้ หากปราศจากซึ่งการเขียนเพลงที่เปี่ยมล้นไปด้วยเสน่ห์ของวินเทอร์; การร้องเพลงที่เข้าถึงห้วงอารมณ์ของตัวละครได้ในระดับจิตวิญญาณ; การเลือกใช้องค์ประกอบทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งถ่ายทอดห้วงอารมณ์อันหลากหลายและมีมิติลุ่มลึกของตัวละครนำได้อย่างวิจิตรงดงาม; และการจัดเรียงแทร็กที่สุดแสนจะพิถีพิถันของอัลบั้ม อันสามารถร้อยเรียงเพลงทั้งหมด ให้เล่าเรื่องราวเรื่องเดียวกันได้อย่างลื่นไหล จนไม่มีจุดไหนเลยในอัลบั้มที่เรารู้สึกว่า ‘ขาด’ หรือ ‘เกิน’ ทุกเพลงมีเป้าหมาย มีหน้าที่ และเหตุผลของมัน
.
Heavy Metal เปี่ยมล้นไปด้วยเพลงชั้นยอดแต่แทร็กแรกจนแทร็กสุดท้าย ไม่ว่าจะเพลงเปิดอย่าง ‘The Rolling Stones’ ที่ปูเรื่องราวของตัวละครนำให้คนฟังได้ทำความรู้จักอย่างเป็นกันเอง; บทบรรเลงเพลงโซล/ซอฟร็อกแห่งการโหยหา ที่หยิบยืมชื่อมาจากตัวละครในบทประพันธ์มหากาพย์อย่าง Odyssey ใน ‘Nausicaä (Love Will Be Revealed)’; เพลงที่เป็นเหมือนจังหวะการเล่าเรื่องแบบอ้อม (Foreshadow) ซึ่งแง้มให้คนฟัง ได้สัมผัสถึงความดำมืดของตัวละครนำอย่างน่าค้นหาใน ‘Drinking Age’; เพลงแชมเบอร์โฟล์คเซนเตอร์พีซของอัลบั้มอย่าง ‘Cancer of the Skull’ ซึ่งขับพล็อตให้กับอัลบั้มได้อย่างน่าดื่มด่ำ ผ่านการโชว์ทักษะการร้องและการควบคุมเสียงที่น่าทึ่งของวินเทอร์ ผสานไปกับเนื้อเพลงที่ถูกสลักเสลามาอย่างวิจิตรบรรจงซึ่งห้วงอารมณ์ของความเหลวแหลก; เพลงซอฟร็อกคนเหงากลิ่น Nilsson ที่วินเทอร์เผยว่าเป็นเพลงโปรดของตัวเอง อย่าง ‘Try As I May’; และเพลงแชมเบอร์โฟล์คเรียบๆ ที่เล่นโน้ตซ้ำไปมา เพื่อสะท้อนห้วงอารมณ์แห่งความเหนื่อยล้าอย่าง ‘We’re Thinking the Same Thing’
แต่จังหวะที่สำคัญที่สุดของอัลบั้ม ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นของ ‘เพลงฝาแฝดคนละข้าง’ อย่าง ‘Love Takes Miles’ กับ ‘Nina + Field of Cops’ และจังหวะไคลแม็กซ์ทางอารมณ์ของอัลบั้มอย่าง ‘$0’ ซึ่งพ่วงต่อท้ายมาด้วยแสงสว่างปลายอุโมงค์อย่าง ‘Can’t Keep Anything’
เริ่มจากฝาแฝดข้างสว่าง และแทร็กหมายเลขสามจากหน้า อย่าง ‘Love Takes Miles’ นี่คือเพลงป็อปที่นำเสนอจุดสูงสุดของตัวละครนำให้คนฟังได้สัมผัส จังหวะที่จิตใจของตัวละครตัวนี้เปี่ยมล้นไปด้วยความหวังและความสุข วินเทอร์เขียนเนื้อเพลงออกมาได้มหัศจรรย์มาก เขาโดดเด้งไปมาระหว่างประโยคซื่อๆ บ้านๆ อย่าง “เหงาชิบหาย” (“Lonely as hell”) กับประโยคชวนคิดอย่าง “คุณควรเริ่มหัดเดินได้แล้วที่รัก // ความรักต้องใช้ระยะทางเป็นไมล์” (“You better start a walking babe // Love takes miles”) หรือ “ความรักจะเรียกหา เมื่อใต้แขนของคุณเริ่มมีเพียงพอ” (“Love will call // When you've got enough under your arms”) กับประโยคที่แอบลามกแต่เล่นกับธีม ‘การเดิน’ ของเพลงได้อย่างชาญฉลาดอย่าง “ฉันต้องการ ฉันต้องการเท้าคุณมากกว่าที่คุณต้องการ” (“I need, I need your feet more than you do”) หรือประโยคที่ปลุกเร้าจินตภาพเซอเรียลอย่าง “เปิดดวงจันทร์ ทับเธอให้แบน และนั่งเธอไว้บนบันไดทั้งวัน เธอสบายดี” (“Open the moon // Flatten her down // And sit her on the stairs all day // She's alright”) ได้อย่างลื่นไหล เขาเขียนและร้องประโยคทั้งหมดทั้งมวลนั่น ราวกับมันเป็นประโยคในบทสนทนาธรรมดาทั่วไปยังไงยังงั้น มันลื่นไหลฟังดูเป็นธรรมชาติอย่างแปลกประหลาดมากๆ
จริงอยู่ ความหมายของเพลงเพลงนี้มันเรียบมาก ‘ความรักมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม’ ความหมายของมันมีอยู่แค่นั้นเอง แต่วินเทอร์เทียนเขียนและขยายคอนเซ็ปออกมาเป็นเพลงได้อย่างสนุกและชวนคิดมากๆ ความรัก<=ความพยายาม=เวลา=ระยะทาง<=การเดิน<=ฝ่าเท้า<=การเคลื่อนไหว วินเทอร์โยงคอนเซ็ปทั้งหมดนั่นเข้าด้วยกันเป็นเพลงได้อย่างน่าทึ่งมากๆ ไม่เพียงเท่านั้น ผมไม่เคยเห็น ‘เพลงป็อป’ ที่ถูกเขียนในสำนวนภาษาบีทนิกได้ดีเท่ากับเพลงเพลงนี้มาก่อนเลยในชีวิต; นี่ยังไม่พูดถึงภาคดนตรีเลย การมิกซ์เสียงที่เครื่องดนตรีพลุบเข้าพลุบออกราวกับไส้เดือน ภาคจังหวะที่ปลุกเร้าความรู้สึกชวนเต้นได้อย่างพิลึกกึกกือ จังหวะตัดองค์ประกอบเสียงแบบเกือบยกชุดในคอรัสแรก การเปิดพื้นที่ให้องค์ประกอบเสียงทุกชิ้นได้เฉิดฉาย และเล่นลูกรับลูกส่งกันไปมาอย่างคึกคักเข้ากับทำนอง ทุกอย่างเกี่ยวกับภาคดนตรีของเพลงเพลงนี้ มันแปลกแต่ไพเราะเสนาะหูไปหมด นี่คือเพลงป็อปที่ดีที่สุดในปีนี้อย่างไม่ต้องสงใส ไม่ต้องไปสนรอยต่อที่พร่าบางระหว่างคำว่า ‘ป็อป’ ในความหมายแบบกระแสหลักหรือนอกกระแสเลย เพลงนี้กินขาดหมด ผมไม่กังขาเลยแม้แต่เพียงวิ
ต่อมาคือแฝดข้างค่ำ และแทร็กหมายเลขสามจากท้าย อย่าง ‘Nina + Field of Cops’ เพลงสายทดลองที่นำเสนอจุดต่ำสุดของตัวละครตัวนี้อย่างถึงลูกถึงคน ด้วยเทคนิคการใช้เนื้อเพลงที่ยืดยาวเหมือนพร่ำบ่น แต่ปลุกเร้าจินตภาพแบบเซอเรียล ตามสไตล์กวีบีท (Beat Poetry) สูตรต้นตำหรับ (ในความหมายทั่วไป) ซึ่งวินเทอร์ขับร้องเนื้อเพลงออกมาอย่างโหยหวนราวกับกำลังเมายา ทั้งยังอัดเสียงตัวเองซ้อนทับกันได้อย่างอื้ออึง ประดับประดาด้วยเสียงเปียโนที่รัวกระหน่ำอย่างตึงเครียดและกดดัน เสียงเครื่องทองเหลืองที่โหยหวนแข่งกับวินเทอร์ และการมิกซ์เสียงที่บีบให้คนฟังรู้สึกอึดอัด ผ่านการปรับแต่งมิติของเสียง มันเป็นเพลงที่หนักหน่วง คุ้มคลั่ง และดิบดานมาก มันไม่สำคัญเลยว่าคุณฟังเนื้อเพลงทั้งหมดนั่นทันไหม เพราะตราบใดที่ประโยคแต่ละประโยค คำพูดแต่ละคำพูด และเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น สามารถถ่ายทอดห้วงอารมณ์ของความคุ้มคลั่งและการกระเสือกกระสน เยี่ยงการตะเกียกตะกายต้านมวลน้ำที่โถมเข้ามาฉุดคุณไปสู่ความตายได้ เพลงเพลงนี้ก็ทำหน้าที่ของมันสำเร็จแล้ว มันผลักคุณไปสู่ก้นบึ้งในหัวใจที่ดำมืดของตัวละครนำตัวนี้ได้สำเร็จแล้ว
จบจากเพลงแฝดคนละฝา มาต่อกันที่จังหวะไคลแม็กซ์ของอัลบั้มอย่าง ‘$0’ ซึ่งบอกเล่าถึงความน้อยเนื้อต่ำใจของตัวละครนำ ผู้รู้สึกว่าตนเองถูกลดทอนคุณค่าโดยคนรัก จนรู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีความหมาย ตอนที่เขาจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีความหมาย ก็ต่อเมื่อตอนที่เขาถูกใช้งานเป็นเครื่องมือโดยคนรักเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่ค่อยมีความหมายอีก; “คุณทำให้ผมรู้สึกเหมือนผมเป็นมนุษย์ศูนย์ดอลลาร์ คุณทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นเงินหนึ่งดอลล่าร์ในมือของคุณ” (“You're making me feel like I'm a zero dollar man // You're making me feel like a dollar in your hand”); วินเทอร์เล่าจุดนี้ของเพลงออกมาอย่างชาญฉลาด ด้วยการหยิบยืมความหมายและสัญญะของ ‘เงิน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เพลงก่อนหน้าอย่าง ‘Cancer of the Skull’ ได้บอกใบ้มาก่อนแล้ว ทั้งยังเขาเปลือยเพลงเพลงนี้ให้เหลือแค่เสียงของเขาและเสียงเปียโนในตอนแรก เพื่อถ่ายทอดความเจ็บปวดจากก้นบึ้งของตัวละครตัวนี้ออกมาในระดับเนื้อหนังมังสาว ความเปล่าเปลี่ยว ความเกลียดชังในตัวเอง ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกสังคายนาออกมาจากเพลงเพลงนี้ได้อย่างทรงพลังเสียจนฟังแล้วรู้สึกอึดอัด; ก่อนที่ตัวละครนำตัวนี้ จะคิดหาทางออกไม่ได้ จนสุดท้ายต้องหันไปพึ่งพระเจ้าอย่างน่าสมเพช ซึ่งวินเทอร์ก็ถ่ายทอดออกมาด้วยการโหวกเหวกโวยวายเหมือนคนบ้า (แต่ยังลงล็อกกับคอร์ด) พร้อมกับเสียงสหเครื่องดนตรีที่เล่นอย่างสะเปะสะปะ ซึ่งมะรุมมะตุ้มอยู่ทุกทิศทุกทาง เป็นจังหวะที่ดิบดานลากไส้เสียจนน่าขนลุก วินเทอร์ปลดเปลื้องตัวละครตัวนี้เสียจนไม่เหลืออะไรเลยจริงๆ
จากนั้น อัลบั้มจึงพาคนฟังไปสู่แสงสว่างปลายอุโมงค์ด้วย ‘Can’t Keep Anything’ เพลงแชมเบอร์โฟล์คสไตล์ Leonard Cohen อันว่าด้วยการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งตัวละครนำของอัลบั้มได้เรียนรู้ที่จะรักตัวเองให้มากขึ้น และออกเดินทางต่อ แม้ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางจะเป็นที่ไหน เป็นตอนจบแบบหวานปนขมที่แอบเรียบง่าย แฝงปรัชญาบีทนิก ทั้งยังน่าจดจำไม่ใช่น้อย
ทั้งนี้บางคนอาจจะไม่สังเกตุ ว่านี่คืออีกหนึ่งเพลงจากอัลบั้มชุดนี้ ที่วินเทอร์จงใจให้เนื้อเพลงพ้องกับเพลงอื่นๆ โดยในกรณีของเพลงนี้ปรากฎตั้งแต่ประโยคแรกๆ ที่ว่า “เดินและเดิน เดินและเดิน เธอใช้เท้าของเธอจนเดินไม่ไหวอีกต่อไป” (“Walking and walking // Walking and walking you used up your feet”) ซึ่งพ้องกับ “คุณควรเริ่มหัดเดินได้แล้วที่รัก // ความรักต้องใช้ระยะทางเป็นไมล์” (“You better start a walking babe // Love takes miles”) จากเพลง ‘Love Takes Miles’ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสื่อว่า ตัวละครนำของอัลบั้มสามารถทำใจได้แล้ว ว่าคนรักของเขา ไม่รักเขาอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อเธอเลิก ‘เดิน’ นั่นก็เท่ากับเธอเลิก ‘พยายาม’ ที่จะประคับประคองความรักระหว่างกันเอาไว้ และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเดินหน้าต่อโดยปราศจากเธอ (“I can't keep anything, not even you”); นี่คืออีกหนึ่งจังหวะ ที่พิสูจน์ว่าแม้เพลงแต่ละเพลงใน Heavy Metal จะดีแค่ไหน แต่มันยังดีได้ยิ่งกว่าเมื่อพวกมันอยู่ด้วยกันทั้งชุด ทั้งอัลบั้ม
.
“ที่รัก สถานที่ที่ฉันกำลังจะไป
ฉันเก็บอะไรไว้กับตัวไม่ได้
แต่ฉันก็ไม่สามารถมอบทุกสิ่ง
ฉันไม่สามารถมอบทุกสิ่ง
ฉันไม่สามารถมอบทุกสิ่งให้กับเธอได้”
(“Baby where I'm going
I can't keep anything
But I can't just give everything away
I can't just give everything away
I can't just give everything away to you”)
.
เรื่องราวของความรัก และการก้าวผ่าน กับเสียงดนตรีแห่งความเลอะเทอะ และความไม่สมบูรณ์แบบ นั่นแหละคือ Heavy Metal
แม้อัลบั้มชุดนี้จะไม่ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนักทางพาณิชย์ ส่วนหนึ่งโดยความตั้งใจ (?) ของตัวศิลปินเอง แต่ผมก็เชื่ออย่างสุดใจขาดดิ้นว่า Heavy Metal จะเป็นอีกหนึ่งในอัลบั้ม ที่คนฟังเพลงจะวกกลับมาพูดถึงอีกหลายต่อหลายครั้งจากนี้ มันคืออัลบั้มที่จะต้านทานกระแสลมเชี่ยวกราดของกาลเวลา และถูกชำระล้างบาปโดยการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล; สิ่งเดียวที่ผมสงสัยเกี่ยวกับอัลบั้มชุดนี้ก็คือ หลังจากนี้หลายปีไปแล้ว เวลาคนพูดถึงอัลบั้มชุดนี้อีก พวกเขาจะใส่คำว่า ‘คัลต์’ ต่อหน้าคำว่า ‘คลาสสิค’ ให้กับมันรึเปล่านะ? ผมหวังว่าคงไม่ เพราะถึงตอนนั้น แคมรอน วินเทอร์ ควรจะได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในนักเขียนเพลงอเมริกันที่เก่งกาจที่สุดของยุคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ใครจะไปรู้ ว่ามาสเตอร์พีซแห่งวงการโพสต์บีท จะถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2024 แอบเสียดายที่ Ginsberg ไม่ได้มีชีวิตอยู่มาฟังอัลบั้มชุดนี้ ผมเชื่อว่าเขาจะต้องรักมันแน่ๆ
.
◾ เพลงที่ชอบที่สุด 3 เพลง :
Love Takes Miles [แนะนำอย่างยิ่ง]
Nina + Field of Cops
$0
◾ คุณภาพการมิกซ์และบันทึกเสียง : พอใช้